ภาวะเครียดจากความร้อน: ขีดสูงสุดทีมนุษย์จะปรับตัวได้
การรณรงค์ด้านโลกร้อนโดยฝ่ายต่างๆ มักจะนำเสนอคล้ายๆ กันว่าถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรุนแรงถึงขั้นหายนะแก่มนุษย์ชาติ ในรูปของความแห้งแล้ง ระดับน้ำทะเลและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่หลายคนคงเคยได้เห็นมาบ้างแล้วจากเอกสารหรือโปสเตอร์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามผลกระทบของอุณภูมิต่อภาวะเครียดเนื่องจากความร้อนที่มีต่อมนุษย์นั้น ก็สามารถใช้เป็นเกณฑ์ทางตรงของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อาจะทำให้บางคนเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการรับรู้ผลกระทบผ่านกระบวนการในทางอ้อมต่างๆ
บางคนอาจจะเชื่อว่ามนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศใดๆ ก็ได้ ดังจะเห็นได้ว่ามนุษย์เราในปัจจุบันสามารถอยู่อาศัยได้ในเกือบทุกที่บนผิวพื้นโลกใบนี้ อย่างไรก็ตามรายวิจัยล่าสุดโดย Sherwood และ Huber (2010) เรื่อง An adaptability limit to climate change due to heat stress ได้คัดค้านความคิดนี้โดยนำเสนอว่าภาวะโลกร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้ประชากรโลกจำนวนมากมีภาวะเครียดจากความร้อนสูงเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงนั้นจะนำไปสู่ภาวะที่มนุษย์สุดจะทานทนได้ให้หลายพื้นที่ของโลก
อุณหภูมิที่ผิวหนังของมนุษย์ถูกควบคุมให้ค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 35 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิของร่างกายจะต้องสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศรอบข้างเพื่อให้ความร้อนสามารถระบายออกจากร่างกายได้ หรือถ้ากล่าวให้ถูกต้องก็คืออุณหภูมิของร่างกายจะต้องสูงกว่าอุณหภูมิของเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียก (TW) ซึ่งเป็นการวัดผลรวมของอิทธิพลของอุณหภูมิอากาศ ความชื้นและลมของ ณ ที่นั้นๆ โดย Sherwood และ Huber (2010) ประมาณว่า TW สูงสุดต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงที่มนุษย์สามารถทนได้ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 35 องศาเซลเซียสด้วยเช่นกัน ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้หรือร้อนต่อเนื่องนานกว่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะ hyperthermia ได้
ภาพที่ 1 แสดงถึงอุณหภูมิของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (1999-2008) โดยเส้นสีดำแสดงถึงการกระจายสะสมของอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวพื้นโลก เส้นสีน้ำเงินแสดงถึงการกระจายสะสมของอุณหภูมิสูงสูงสุดและเส้นสีแดงแสดงถึงการกระจายสะสมของอุณหภูมิกระเปาะเปียก (TW) เส้นประแนวตั้งแสดงถึงค่าวิกฤติ 35 องศาสเซลเซียส ส่วนภาพแผนที่ด้านขวาแสดงถึง TW ณ จุดต่างๆ ของโลก
ภาพที่ 1 (A) การกระจายสะสมของอุณหภูมิเฉลี่ย (สีแดง) อุณหภูมิสูงสุด (สีน้ำเงิน) และอุณหภูมิกระเปาะเปียก (สีแดง) ของทั้งโลกในช่วงปี 1999-2008 (B) แผนที่แสดงอุณหภูมิกระเปาะเปียก (TW)
ในขณะที่การกระจายของอุณหภูมิอากาศของโลกมีช่วงกว้าง (ตั้งแต่น้อยกว่า 0 จนถึง 50 องศาเซลเซียส) อุณหภูมิกระเปาะเปียกมีช่วงการกระจายที่แคบกว่ามาก (อยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส) ซึ่งแสดงว่าพื้นที่ทั้งหลายในโลกนี้มีคุณลักษณะด้านอุณหภูมิและความชื้นในองค์รวมที่คล้ายคลึงกัน โดยในพื้นที่ทะเลทรายซึ่งมีอุณหภูมิสูงก็จะมีความชื้นต่ำจึงทำให้ค่า TW ไม่สูงมากนัก ในขณะที่ในเขตขั้วโลกมีอุณหภูมิต่ำแต่ความชื้นในอากาศก็สูงยังช่วยให้ TW ไม่ต่ำลงมาก ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่ามานี้ TW ในที่ใดๆ บนโลกแทบจะไม่เคยสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส
ภาวะโลกร้อนจะทำให้ช่วงของการกระจายของ TW ขยับไปทางขวามากขึ้น ซึ่งSherwood และ Huber (2010) สรุปว่าถ้าอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7 องศาสเซลเซียส จะทำให้ค่า TW ของโลกขึ้นสูงจนแตะ 35 องศาเซลเซียส และนั่นจะทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นจากระบวนการในร่างกายไม่สามารถระบายออกไปได้ และถ้าอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 11-12 องศาสเซลเซียส ก็เกือบจะไม่มีที่ใดบนโลกที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ
ถึงแม้ว่าอุณหภูมิโลกคงจะไม่เพิ่มสูงถึงระดับที่วิกฤติโดยตรงของร่างกายของมนุษย์ งานวิจัยนี้ก็ช่วยชี้ให้เห็นว่าความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราสามารถทนต่อความร้อนได้โดยดูแต่อุณหภูมิอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะจะต้องพิจารณาผลของความชื้นประกอบด้วยเนื่องจากปัจจัยทั้งสองร่วมกันส่งผลต่อการระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยเฉพาะในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นผลจากการเพิ่มของอุณหภูมิก็จะรุนแรงกว่าในเขตร้อนแห้ง
Translation by anond. View original English version.